คำว่า “นักดนตรี” กับ “นักดนตรีบำบัด” สองคำนี้ดูไปดูมามันก็อาจจะต่างกันแค่คำว่า “บำบัด” ที่เพิ่มเข้ามา เรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องราวการเดินทางเพื่อเอาคำว่า “บำบัด” มาเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิตผม อย่าเข้าใจผิดนะครับว่าผมต้องเดินทางไปไกลเพื่อเข้ารับการรักษาโรคอะไรอยู่ตลอดเวลา การเดินทางนี้เป็นเรื่องของนักดนตรีคนหนึ่งที่ผันตัวเองไปเป็นนักดนตรีบำบัดต่างหาก
จุดเริ่มต้นของเรื่องมันมาจากการเป็นนักดนตรีในวงโยธวาธิตที่อัสสัมชัญบางรัก (A.C. Band) เริ่มเล่นทรัมเป็ตมาตั้งแต่ม.1 ฝีมือก็งั้นๆ ไม่ได้เก่งอะไรมากมาย มีมาสเตอร์วิชัยกับมิสพรภัทร์แล้วก็พวกรุ่นพี่ๆ ที่คอยช่วยสอนรุ่นน้องในวง ความรู้ทางดนตรีส่วนใหญ่ที่ได้ก็ได้จาก A.C.Band นี่แหล่ะ ต้องขอบคุณมิสและมาสเตอร์ที่คอยช่วยสอนอะไรหลายๆ อย่างให้ผม พอขึ้นม.ปลายผมก็เริ่มหันมาสนใจกีตาร์ ความตั้งใจแรกไม่ได้จะอยากเล่นเป็นจริงๆ จังๆ ด้วยซ้ำ แต่พอหัดจับคอร์ดได้สักพักรู้สึกนิ้วเริ่มด้านแล้วก็เลยคิดว่าไหนๆ ก็เจ็บตัวละเล่นต่อมาเรื่อยๆ มันเลยละกัน หลังจากนั้นผมตัดสินใจเรียนต่อคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เครื่องเอกกีตาร์คลาสสิก การตัดสินใจของผมครั้งนี้ทางบ้านผมไม่ค่อยจะเห็นด้วยเท่าไหร่ ซึ่งคนที่เรียนดนตรีในช่วงนั้น (หรืออาจจะในปัจจุบันนี้ด้วย) จะได้เจอกับคำถามที่ว่า “เรียนดนตรีจบมาแล้วจะไปทำอะไร” ช่วงนั้นผมต่อต้านกับคำถามนี้มาก คิดอย่างเดียวว่าแค่อยากเรียนในสิ่งที่เรารักแค่นั้น ชีวิตช่วงนั้นหายใจเข้าออกเป็นดนตรีไปหมด วันๆ ซ้อมแต่กีตาร์ ไม่ค่อยได้ทำอะไรเท่าไหร่ ซึ่งผลแห่งความขยันนี้ (เพื่อนบางคนก็บอกว่าผมบ้า วันๆ เอาแต่ซ้อม ไม่ค่อยออกมาเจอเพื่อนๆ เท่าไหร่) ก็ให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อผมเรียนจบด้วยผลการเรียนที่ค่อนข้างสวยหรูเลยทีเดียว แต่พอเรียนจบออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงก็เริ่มตระหนักว่า เกรดที่เราได้สุดท้ายมันก็แค่ตัวเลขตัวอักษร ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นเท่าไหร่ (อาจจะไม่ใช่กับคนอื่น แต่อย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่ผมเจอมากับตัวเองหลังจากเรียนดนตรีจบแล้ว)
คำถามที่ผมเคยถูกถามมันย้อนกลับมาเหมือนมีอะไรมาตบหน้าให้ตื่นจากฝันให้ตื่นมาเผชิญหน้ากับความจริง งานที่ทำช่วงนั้นก็เป็นครูสอนกีตาร์ พอมีรายได้เล็กๆ น้อยๆ พอประทังชีวิต หลังจากนั้นจึงต้องเริ่มกลับมาค้นหาตัวเองแล้วตั้งคำถามกับตัวเองว่าที่เป็นครูสอนกีตาร์ทุกวันนี้เพราะอะไร คำตอบที่ได้มีแค่อย่างเดียวคือ „ก็จบเรียนกีตาร์คลาสสิกมา ฝีมือก็ไม่ได้จะไปถึงระดับโลกอะไร จะให้ไปตระเวนแข่งตามเวทีใหญ่มันก็ไม่ใช่ทาง ถ้าอยากทำงานที่เกี่ยวกับดนตรีก็คงต้องเป็นครูสอนไปก่อนละกัน“ ตอนนั้นบอกตามตรงว่าคิดอะไรไม่ออกจริงๆ ว่าอนาคตผมควรไปทางไหนดี ผมเองก็ไม่อยากแบมือของเงินที่บ้านใช้ไปจนแก่ ลำพังเงินเดือนครูสอนดนตรีก็คงไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นเท่าไหร่ (ช่วงนั้นผมสอนน้อยลงเพราะมีครูเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าอาชีพครูดนตรีจะแย่ไปทุกอย่างนะครับ) เลยลองหันไปทำอย่างอื่นดูบ้างอย่างเปิดร้านกาแฟ กลับไปช่วยกิจการที่บ้านบ้าง รับงานถ่ายรูปบ้าง แบบว่ามีอะไรผมก็ลองๆ ทำไปแต่สุดท้ายมันก็ยังรู้สึกว่าไม่ใช่ทางของเราอยู่ดี
ส่วนเรื่องแรงบันดาลใจในการเรียนดนตรีบำบัดที่จริงแล้วก็ไม่ได้มาจากความต้องการจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เจ็บป่วยด้วยเสียงเพลงหรืออะไรสวยๆ แบบนี้หรอกครับ ผมแค่อยากลองหาอะไรทำอย่างอื่นที่มันหลุดออกไปจากกรอบเดิมๆ ที่ว่าเรียนดนตรีจบมาแล้วต้องเป็นนักดนตรี ครูสอนดนตรีหรือไม่ก็เปิดโรงเรียนดนตรีเอง ช่วงก่อนเข้าศิลปากรผมก็เคยได้อ่านบทความเกี่ยวกับดนตรีบำบัดอยู่บ้าง ก็เห็นว่าน่าสนใจดีคิดว่าถ้าเรียนจบดนตรีแล้วก็น่าจะลองไปทำอาชีพด้านนี้ดูบ้าง แต่ก็เหมือนเป็นแค่ความคิดที่แว่บผ่านเข้ามาในหัวช่วงสั้นๆ ไม่ได้จะไปจริงจังหาข้อมูลอะไรต่อมากมาย จนเมื่อปี 2008 ได้มีโอกาสมาเยอรมนีกับวงประสานเสียงสวนพลู ตอนนั้นผมยังไม่ได้เป็นสมาชิกของวงแบบจริงๆ จังๆ หรอกแค่ตามเค้ามาถ่ายรูปตอนแข่ง World Choir Game ที่เมือง Graz ประเทศออสเตรีย แล้วก็ได้แวะมาเที่ยวที่เยอรมันต่อ ช่วงนั้นได้รู้จักกับน้าต้อมที่มาช่วยดูแลวงสวนพลู น้าต้อมเป็นคนพาพวกเราไปเที่ยวช่วยจัดหาที่พักให้ ซึ่งน้าต้อมเนี่ยหล่ะที่เป็นคนที่จุดประกายความคิดเรื่องเรียนต่อดนตรีบำบัดให้ผมอีกครั้งและยังช่วยหาข้อมูลและช่วยแปลเอกสารเรื่องการเรียนต่อที่เยอรมันให้ด้วย
ภาษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนดนตรีบำบัดที่เยอรมนี ตอนที่รู้ตัวว่าอยากมาเรียนต่อที่เยอรมนีนั้นผมก็เริ่มเรียนภาษาเยอรมันที่เกอเธ่ก่อนช่วงปลายปี 2008 แต่เรียนได้สักพักก็ต้องหยุดเพราะช่วงนั้นทางบ้านยังไม่เห็นด้วยที่จะให้มาเรียนต่อ กว่าจะได้มาเยอรมันจริงๆ ก็ปลายเดือนกันยายน 2009 ผมยังจำความรู้สึกวันแรกที่กลับมาประเทศนี้อีกครั้งด้วยตัวคนเดียว ต้องถือว่าเป็นการเดินทางมาต่างประเทศคนเดียวเป็นครั้งแรกอีกด้วย ช่วงแรกผมต้องเรียนภาษาในโรงเรียนภาษาแห่งหนึ่งในเมือง Radolfzell เป็นชั้นเรียน Intensive เรียนจันทร์ถึงศุกร์ พอย้อนกลับมามองชีวิตตัวเองช่วงเรียนภาษาแล้วต้องบอกว่าเป็นช่วงที่สบายที่สุด เรียนเสร็จก็ไปทำกิจกรรมที่โรงเรียนจัดให้คือเรียนไปเที่ยวไปนั่นแหล่ะ ระหว่างเรียนภาษาผมก็ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องเอกสาร ต้องหาที่ฝึกงานกับนักดนตรีบำบัดก่อนที่จะเริ่มเรียนด้วย ก็ได้น้าต้อมช่วยอีกและก็เป็นเรื่องบังเอิญเช่นกันที่เพื่อนน้าต้อมคนหนึ่งก็เป็นนักดนตรีบำบัด ผมก็เลยได้ไปฝึกงานกับเขาในบ้านพักผู้พิการ ระหว่างนั้นก็ได้ไปฝึกงานในศูนย์จิตเวชกับผู้ป่วยสูงอายุในระยะสั้นๆ
หลังจากเรียนภาษาจบผมก็ได้เข้าเรียนต่อที่ SRH Hochschule Heidelberg เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งที่ Heidelberg นี้ถือได้ว่าเป็นที่แรกของเยอรมนีที่เปิดหลักสูตรดนตรีบำบัดในระดับอุดมศึกษาที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีที่เมือง Hamburg ที่เปิดสอนดนตรีบำบัดเช่นกันแต่เป็นในลักษณะของใบประกาศนียบัตรมากกว่า นอกจากนี้ที่ Heidelberg ยังเป็นที่เดียวที่เปิดสอนดนตรีบำบัดในระดับปริญญาตรีด้วย ในขณะที่เมืองอื่นๆ จะเป็นหลักสูตรปริญญาโทหรือเป็นการอบรมทางวิชาชีพ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องข้อจำกัดทางด้านกฎหมายทางวิชาชีพนักดนตรีบำบัดและเรื่องระบบการศึกษาของเยอรมนีที่นักดนตรีบำบัดนั้นยังไม่ใช่วิชาชีพที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับสาขาอาชีพอื่นๆ แต่ข้อเสียอย่างหนึ่งของที่ Heidelberg คือเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งค่าเรียนก็หนักพอสมควร ตอนแรกผมก็ไม่รู้หรอกว่าที่นี่เขาเป็นเอกชน มารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่เขารับเราเข้าเรียนแล้วแบบไม่ต้องวุ่นวายอะไรมาก (คงรู้เหตุผลนะครับเพราะอะไร T__T)
สาขาปริญญาโทหลักสูตรดนตรีบำบัดประยุกต์ที่ผมเรียนนี้จะเป็นการเรียนวิชาพื้นฐานทางด้านจิตวิทยาที่ครอบคลุมและจำเป็นต่อวิชาชีพซึ่งได้แก่ จิตวิทยาพื้นฐาน, จิตวิทยาการพัฒนาการ, โรคทางจิตเวช, สุขภาวะทางกาย จิต สังคม, หลักการสนทนากับคนไข้, การบำบัดกลุ่ม, การเล่นดนตรีในทางคลีนิก เป็นต้น ช่วงแรกของการเรียนโทนั้นผมยังคงมีปัญหาเรื่องภาษาอยู่บ้าง ก็ต้องอาศัยเครื่องอัดเสียงตลอด ถามเพื่อนบ้าง แล้วก็ไปอ่านเองเสียเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายคือเราพลาดโอกาสที่จะได้ซักถามอาจารย์ในเรื่องที่เราไม่เข้าใจ และโอกาสที่จะได้พูดคุยโต้เถียงกับเพื่อนร่วมชั้นในหัวข้อที่เรียนอยู่ การปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศในการเรียนก็เป็นปัญหาเช่นกัน เนื่องจากเราโตมาในสังคมที่คนเรียนอยู่ในฐานะเป็นผู้รับอย่างเดียว ไม่มีการกระตุ้นให้คิดตามและมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน ไม่เคยถูกสอนมาให้เถียงประมาณนั้น แต่คนที่นี่เขาคิดได้แบบในมุมที่เราคิดไม่ถึง ผมรู้สึกประหลาดใจกับทุกคำถามของเพื่อนคนเยอรมันของผมมากว่าเขาคิดแบบลึกซึ้งขนาดนั้นได้อย่างไร (แต่บางทีก็แอบคิดนะว่าทำไมมันต้องคิดมากอะไรขนาดนั้นด้วยเนี่ย)
หลังจากเรียนจบผมได้วีซ่าหางานมาปีครึ่ง กว่าจะหางานได้จริงๆ ก็ปาเข้าไป 9 เดือน ช่วงที่หางานอยู่เป็นช่วงที่ผมสับสนในตัวเองมากว่าเราควรกลับไทยหรือควรจะอยู่ต่อ ความตั้งใจแรกหลังจากเรียนจบคือผมอยากหาประสบการณ์การทำงานในฐานะนักดนตรีบำบัดที่นี่ก่อนสักพักเพราะคิดว่าการกลับไทยในฐานะนักศึกษาจบใหม่กับนักดนตรีบำบัดที่มีประสบการณ์มันย่อมสร้างความแตกต่างกันอย่างมาก หลังจากส่งใบสมัครไปหลายสิบที่ ผมก็ได้รับการตอบรับให้เข้าทำงานในคลีนิกเวชศาสตร์ฟื้นฟูทางกายและจิตแห่งหนึ่งในเมือง Gengenbach ที่คลินิกนี้แบ่งออกเป็น 3 แผนกแยกตามโรคคือแผนกผู้ป่วยโรคเจ็บปวด, แผนกผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคสะเทือนขวัญ (Trauma) อาการเครียดที่เกิดจากปัญหาในที่ทำงานและแผนก Komorbidität (คือการเกิดภาวะร่วมของอาการผิดปกติต่าง หรือจะแปลง่ายๆ ก็แปลว่าแผนกรวมโรคละกัน) ผมดูแลคนไข้ในแผนกโรคซึมเศร้าและแผนกรวมโรค โดยทำบำบัดในแบบกลุ่มและเดี่ยว คนไข้ที่นี่จะได้รับการรักษาในหลายๆ รูปแบบ แต่การรักษาหลักก็คือการรักษาในทางจิตบำบัดแบบกลุ่มและเดี่ยวโดยนักจิตบำบัด ร่วมกับการรักษาด้วยยาด้วยหมอแบบที่เราคุ้นเคย รวมไปถึงการรักษาทางเลือกในรูปแบบอื่นๆ เช่นกายภาพบำบัด กีฬา กลุ่มผ่อนคลาย การฝึกหายใจ กิจกรรมบำบัด การให้คำปรึกษาด้านต่างๆ ฯลฯ ดนตรีบำบัดก็เป็นส่วนหนึ่งในแผนการรักษาที่นี่
ขั้นตอนการบำบัดเริ่มจากการพูดคุยทำความรู้จักกับคนไข้ เพื่อดูว่าปัญหาและความต้องการของเขาคืออะไร หลังจากที่พูดคุยกันแล้วเราจะนำเอาปัญหาของคนไข้มาจัดกิจกรรมดนตรีคือให้คนไข้เล่นเครื่องดนตรีกับเราเพื่อให้บรรลุถึงจุดประสงค์ของการรักษาในชั่วโมงนั้นๆ หลักจากนั้นก็จะเป็นการพูดคุยกันอีกทีหนึ่งเพื่อนำเอาสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นดนตรีมาขยายให้ชัดเจน ซึ่งบางครั้งคนไข้ก็สามารถเปลี่ยนมุมมองความคิดของตัวเองที่มีต่อปัญหา บางครั้งก็ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือการเล่นดนตรีก็ทำให้คนไข้รื้อฟื้นความทรงจำที่อาจจะลืมไปนานแล้วให้เกิดจำได้ขึ้นมาอีก ซึ่งผลของการเล่นดนตรีนี้จะแตกต่างไปตามบุคคล และเราไม่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นเสน่ห์ของการทำดนตรีบำบัด คนไข้ 10 คนก็มีเหตุการณ์ต่างไป 10 อย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันยิ่งทำให้ผมมั่นใจว่าผมเลือกทางเดินของตัวเองได้ถูกต้องแล้วและไม่เคยมีวันไหนเลยที่ผมต้องกลับมาถามตัวเองใหม่ว่า “เรามาทำอะไรอยู่ตรงนี้”
จุดหมายที่ผมตั้งใจไว้เรื่องหนึ่งคือการเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรีบำบัดในผู้ป่วยจิตเวชและอีกเรื่องคือการบุกเบิกสาขาวิชานี้ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม มีความเป็นสากลได้รับความยอมรับและในขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์ของความเป็นดนตรีบำบัดในแบบที่เหมาะสมกับคนไทยและสังคมไทย เป้าหมายเหล่านี้อาจจะยังอยู่อีกไกลมีความลำบากและอาจจะยังมีอุปสรรคที่ท้าทายรออยู่อีกมากมาย หรือสุดท้ายแล้วผมอาจจะทำไม่สำเร็จเลยด้วยซ้ำ อาจจะกลับไทยแล้วไปทำอย่างอื่นก็ได้ แต่ในระหว่างทางที่ผมเดินไปสู่จุดหมายของผม ประสบการณ์ชีวิตที่ผมค่อยๆ สะสมไว้ อีกทั้งความทรงจำที่มีทั้งดีและไม่ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่างหากที่เป็นหัวใจหลักของการเดินทางและเป็นสิ่งที่ประเมินค่ามิได้ ที่สำคัญที่สุดคือผู้คนที่ร่วมเดินทางไปกับผม ผู้คนที่ผมพบเจอและรู้จักระหว่างทาง รวมทั้งคนที่คอยสนับสนุน ช่วยเหลือและอยู่ข้างหลังผมตลอดไม่ว่าผมจะเหนื่อยจนอยากจะหยุด ทุกครั้งที่ผมมองหันหลังไปจะเจอพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้มันสำคัญกว่าการบรรลุเป้าหมายของผมเสียอีก มันทำให้ได้รู้ว่าผมเป็นคนสำคัญสำหรับใคร ทำให้รู้ว่าถึงแม้หนทางมันจะไกลแต่ผมก็จะมีพวกเขาคอยเป็นกำลังใจให้เสมอ หากวันหนึ่งผมเกิดเดินไปถึงเป้าหมายของผมจริงๆ ผมคงถือว่านั้นเป็นกำไรที่ไม่ใช่ของผมคนเดียว แต่เป็นของคนรุ่นหลังด้วยที่จะได้ใช้ฐานที่ผมและคนอื่นๆ ที่จะมาช่วยกันบุกเบิกอีกได้วางไว้เพื่อการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านดนตรีบำบัดสำหรับประเทศไทยหรือจะเอาไว้เรียนรู้ความผิดพลาดจากพวกผมก็ได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเดินซ้ำรอยที่ผิดพลาดนั้นอีก
ลิงค์คลินิกใน Gengenbach: klinik-kinzigtal.de
0 Kommentare