ทุกวันนี้ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่าโรคซึมเศร้ามาบ้าง ไม่ก็อาจจะเคยมีประสบการณ์ได้พบเจอกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้ากันมาบ้างไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง บางคนก็อาจจะกำลังทนทุกข์อยุ่กับโรคนี้ บางคนรู้ตัวและเข้ารับการรักษา บางคนอาจจะไม่รู้ตัวและปล่อยให้อาการหนักขึ้น กว่าจะรู้ตัวการรักษาก็อาจใช้เวลานานกว่าจะหายได้ บทความนี้เราจะมาทำความรู้จักกับโรคซึมเศร้าให้ดีขึ้นและการใช้ดนตรีเพื่อช่วยให้คนที่กำลังเผชิญอยู่กับโรคนี้สามารถเข้าใจและรับมือกับสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่ได้ดีขึ้น
ในบัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับประเทศไทย (ICD10-TM) ได้จัดโรคซึมเศร้าไว้ในกลุ่มความผิดปกติทางอารมณ์ แบ่งเป็นกลุ่มโรคซึมเศร้า (F32) กลุ่มโรคซึมเศร้าซ้ำ (F33) กลุ่มความผิดปกติทางอามาณ์ชนิดที่คงอยู่นาน (F34) โรคซึมเศร้าในแต่ละกลุ่มมีเกณฑ์การวินิจฉัยที่แตกต่างกันออกไปในด้านอาการ ความรุนแรงของโรคและระยะเวลาที่โรคดำเนินอยู่ แต่จะมีกลุ่มอาการหลักและอาการร่วมที่คล้ายกันที่เหมือนกัน เช่น มีอารมณ์เศร้า หดหู่แทบทั้งวัน สูญเสียความเพลิดเพลินหรือความสนุก รวมทั้งความสนใจในกิจกรรมต่างๆ รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลียไม่มีเรี่ยวแรง สมาธิแย่ลง ความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองลดลง มีปัญหาเรื่องการนอน อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย มองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น เบื่ออาหาร หรือแม้แต่มีความคิดอยากทำร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าตัวตาย นอกจากนี้อาจมีอาการทางร่ายกายอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด ทำอะไรเชื่องช้าลง ความต้องการทางเพศลดลง เป็นต้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้าเป็นได้ทั้งเรื่องของกรรมพันธุ์ การเลี้ยงดู สถานภาพทางสังคม หน้าที่การงาน ครอบครัว หรือเรื่องความสัมพันธ์ เราไม่สามารถระบุสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัดได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่ง ทางการแพทย์ได้ให้ข้อสังเกตไว้ว่าโรคซึมเศร้านั้นมีสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกันระหว่างปัจจัยทางร่างกาย (neuro biological factor) ซึ่งก็คือเรื่องของกรรมพันธุ์ ความผิดปกติของฮอร์โมนและปัจจัยทางด้านจิตสังคม (psycho social factor) หรือสิ่งแวดล้อมและการที่คนๆ นั้นมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวเขาเช่นไร
การใช้ดนตรีบำบัดเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
หลักสำคัญของการใช้ดนตรีเพื่อการบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้าคือ ต้องไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดัน เครียดหรือรู้สึกว่าทุกอย่างมากเกินไป นักบำบัดจะต้องมีความละเอียดอ่อนในการเลือกใช้คำพูด การเลือกกิจกรรม การเลือกเพลงให้ผู้ป่วย ไม่ก้าวล่วงพื้นที่ส่วนตัวของผู้ป่วยถ้าผู้ป่วยไม่อนุญาต รับฟังอย่างเปิดใจ ไม่ตัดสิน สามารถมองเห็นและวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรม กลไกการป้องกันทางจิต รวมถึงรูปแบบปฏิสัมพันธ์ของผู้ป่วยได้ กิจกรรมเริ่มต้นที่จะช่วยให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลายและเปิดใจสร้างความสัมพันธ์กับนักบำบัดในช่วงแรกของการทำบำบัดได้ดีคือ กิจกรรมเกี่ยวกับการหายใจและการรับรู้ทางร่างกายร่วมกับการใช้กิจกรรม receptive ซึ่งเพลงที่ใช้เบื้องต้นสามารถให้ผู้ป่วยเลือกเพลงที่ตัวเองชอบได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงเพื่อการผ่อนคลายเสมอไป เนื่องจากเพลงเพื่อการผ่อนคลายมักจะมีทำนองช้า อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเศร้าได้แทนที่จะผ่อนคลาย
กิจกรรม sound journey เป็นอีกหนึ่งกิจกรรม receptive ที่ช่วยให้ผู้ป่วยซึมเศร้าสามารถมีสมาธิอยู่กับเสียงเครื่องดนตรีที่เปลี่ยนไป การเลือกเครื่องดนตรีสำหรับทำ sound journey ควรเน้นไปที่ sound instrument ที่มี sustain ยาวพอสมควรและมี overtone ที่ชัดเจน นักบำบัดสามารถเริ่มกิจกรรมด้วยแบบฝึกการผ่อนคลายและแบบฝึกการหายใจก่อนที่จะเริ่มทำ sound journey ได้ และสามารถใช้เสียงร้องทำ improvisation ร่วมกับการทำ sound journey ได้ ในกิจกรรมนี้ผู้ป่วยจะสามารถฝึกการฟังเสียงเครื่องดนตรีแบบไม่ตัดสิน โดยจะมุ่งสมาธิไปที่ผลของเสียงที่มีต่อร่างกายและจิตใจของตัวเอง และการใช้เสียงร้องในกิจกรรมนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกหายใจอีกด้วย
การใช้กิจกรรมประเภท active สามารถใช้กับผู้ป่วยซึมเศร้าได้ดีในกรณีที่ผู้ป่วยมีความคุ้นชินกับการทำดนตรีบำบัดมาบ้างและผู้ป่วยมีความพร้อมและมีความสนใจที่จะลองกิจกรรมใหม่ๆ บ้าง ข้อควรระวังในการทำกิจกรรมแบบ active คือการสร้างความชัดเจนและความรู้สึกมั่นคงปลอดภ้ยเวลาเล่นให้กับผู้ป่วย เช่น มีการกำหนดรูปแบบหรือกฎการเล่นที่ชัดเจนว่าต้องใช้เครื่องดนตรีประเภทใด เริ่มและหยุดเล่นอย่างไร เป็นต้น หากเป็นการทำ improvisation แบบ free play นักบำบัดสามารถให้อิสระกับผู้ป่วยในการเลือกเครื่องดนตรีได้ แต่ควรใช้เทคนิคการ improvisation แบบ grounding ในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการใช้ therapeutic accompanying ประโยชน์ของการทำ improvisation กับผู้ป่วยซึมเศร้าคือการให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสใช้เสียงดนตรีที่ตนเองเล่นเป็นดังกระจกสะท้อนให้เห็นภาพของตัวเอง เพื่อให้เขาได้ยินเสียงของตัวตน ดึงสติให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันแทนนที่จะจมอยู่ในห้วงความคิดของตัวเอง
กิจกรรมการเล่นเครื่องดนตรียังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยได้ฝึกทักษะการเข้าสังคมผ่านกิจกรรมการเล่นแบบ dialogue หรือการเล่น improvisation แบบ duet ซึ่งกิจกรรมดัวกล่าวจะเป็นตัวจำลองสถานการณ์ให้ผู้ป่วยได้ฝึกการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัว หรือถ้าผู้ป่วยมีความมั่นคงในอารมณ์ในระดับหนึ่งแล้ว นักบำบัดสามารถจำลองการเล่นแบบนี้เป็นการฝึกทักษาะการรับมือความขัดแย้งในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย กิจกรรมการเล่นที่เกี่ยวกับจังหวะ เช่น find your own rhythmus เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้ฝึกการตระหนักรู้ถึงขอบเขตของตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ
การจัดกิจกรรมดนตรีบำบัดให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ต้องให้มีความสมดุลระหว่างกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายและ กิจกรรมเพื่อการกระตุ้นโดยอิงอยู่กับสภาวะทางอารมณ์ของผู้ป่วย ไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าถูกกดดันหรือถูกคาดหวังจากนักบำบัด นักบำบัดไม่จำเป็นต้องหากิจกรรมใหม่ๆ มาทำกับผู้ป่วยทุกครั้งที่ทำการบำบัด โดยให้คำนึงไว้ว่ากิจกรรมที่ผู้ป่วยคุ้นชินจะช่วยสร้างความรู้สึกมั่นใจและความรู้สึกมั่นคงให้ผู้ป่วยได้ดีกว่าการเปลี่ยนกิจกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ อีกนัยนึงคือการจัดกิจกรรมที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องมีกฎการเล่นที่ซับซ้อนมาก สิ่งสำคัญที่สุดมากกว่าตัวกิจกรรมดนตรีบำบัดคือความละเอียดอ่อนและความไวในการรับความรู้สึกของนักบำบัด นอกจากนี้ทักษะการพูดคุยและสะท้อนความรู้สึก และทักษะการสังเกตที่เฉียบคมของนักบำบัดจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ผลของการบำบัดออกมาเป็นที่น่าพอใจ
ประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีบำบัด
เป้าหมายในการทำบำบัดกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไประหว่างการทำบำบัด ในบางครั้งนักบำบัดอาจพบว่ามีประเด็นสำคัญที่ซ่อนอยู่และต้องได้รับการแก้ไขก่อนที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้กับผู้ป่วยในตอนต้น โดยหลักดนตรีบำบัดสามารถช่วยผู้ป่วยในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้
- ช่วยดึงสติให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ รู้ทันความคิดวิตกกังวล ความคิดฟุ้งซ่านของตัวเอง
- ส่งเสริมการรับรู้ทั้งภายในตัวตนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
- ส่งเสริมและฝึกทักษะทางสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลในด้านต่างๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร ทักษะการปรับตัว ทักษะการปฏิเสธคนอื่น เป็นต้น
- ช่วยฝึกการรู้ถึงขอบเขตของตัวเองว่าทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน
- ช่วยฝึกการควบคุมและแสดงออกทางอารมณ์
- ช่วยให้กลับมารู้สึกถึงความสนุกและเพลิดเพลินได้
- ช่วยฝึกทักษะการผ่อนคลาย
0 Kommentare