„ดนตรี“ จาก „เสียง“ สู่ „ศิลป์“…
มนุษย์เราเริ่มมีดนตรีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ดนตรีในช่วงแรกของวิวัฒนาการมนุษย์สันนิษฐานกันว่าเริ่มมากจากการส่งเสียงร้อง การเคาะ ตี รวมไปถึงการเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่าง ๆ เพื่อการสื่อสารกันภายในกลุ่ม ความสามารถในการทำดนตรีของมนุษย์มีต้นกำเนิดมาจากไหนก็ยังไม่มีนัก วิทยาศาสตร์คนไหนพิสูจน์ได้ เครื่องดนตรีชิ้นแรก ๆ ของมนุษย์ที่ยังเหลือหลักฐานมาจนทุกวันนี้ ก็เป็นเพียงชิ้นกระดูกที่ถูกนำมาเจาะรู หากลองจินตนาการถึงโลกเมื่อประมาณ 35,000 ปีก่อน เมื่อได้ยินเสียงจากเครื่องดนตรีกระดูกชิ้นนี้ คงจะเหมือนการได้ยินเสียงจากสววรค์เลยทีเดียว นับจากวันแรกที่เสียงเพลงเกิดขึ้นบนโลกจนถึงทุกวันนี้ ดนตรีได้แทรกซึมอยู่ในทุก ๆ วัฒนธรรมของมนุษย์ เราคงแทบจะนึกไม่ออกเลยว่าชีวิตที่ขาดเสียงดนตรีนั้นจะเป็นเช่นไร แม้คนที่หูหนวกสนิทก็ยังสามารถรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของคลื่นเสียงที่ เข้ามากระทบกับตัว ดนตรีอยู่คู่กับชีวิตของเราตั้งแต่ตอนอยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งถึงช่วงเวลา สุดท้ายแห่งชีวิต
„ดนตรี“ ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน หมายความว่า „เสียง ที่ประกอบกันเป็นทํานองเพลง, เครื่องบรรเลงซึ่งมีเสียงดังทําให้รู้สึกเพลิดเพลินหรือเกิดอารมณ์รัก โศก หรือรื่นเริง เป็นต้น ได้ตามทำนองเพลง“ แต่คนเราก็ช่างคิดเมื่อนักประพันธ์เพลงชาวอเมริกานามว่า John Cage ได้ประพันธ์เพลงที่มีชื่อว่า 4’33“ (สี่นาทีสามสิบสามวินาที) เป็นเพลงแห่งความเงียบนักดนตรีแทบไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่เมื่อเริ่มบรรเลงก็กดนาฬิกาจับเวลาเพื่อเป็นสัญญาณให้คนดูรู้ว่าเริ่มบรรเลงบทเพลงนี้แล้ว และพอถึงเวลาสี่นาทีกว่าก็กดนาฬิกาหยุดเวลาเพื่อให้รู้ว่าจบเพลงแล้ว แบบนี้แล้วเราจะนับว่าความเงียบคือดนตรีชนิดหนึ่งได้หรือเปล่า อันที่จริงดนตรีไม่จำเป็นต้องหมายความถึงเสียงเพลงเสมอไป หากมองให้ลึกลงไป ดนตรีสามารถเป็นได้ทั้งเสียงจากธรรมชาติที่อยู่ในขอบเขตการได้ยินของมนุษย์ หรือในรูปแบบของงานสร้างสรรค์ที่เกิดจากการครุ่นคิดเพื่อก่อให้เกิดสติปัญญา ต่อผู้ฟังหรือเพื่อจุดประสงค์ในการกระตุ้นอารมณ์การรับรู้ของมนุษย์ หรือเพื่อการสะท้อนภาพของสังคมและวัฒนธรรมในแง่มุมต่าง ๆ
จากเสียงเคาะหิน เสียงตีไม้เมื่อหลายหมื่นปีก่อน ปัจจุบันเสียงดนตรีได้ถูกพัฒนาขึ้นจนมีความซับซ้อนทางด้านโครงสร้าง ไวยากรณ์ รูปแบบ ความหลากหลาย เรามีดนตรีหลากหลายประเภทให้เลือกฟังตามความต้องการ ตามสภาวะอารมณ์ในขณะนั้น ๆ หรือสภาวะแวดล้อมและบริบททางสังคม จุดร่วมเดียวกันของดนตรีไม่ว่าจะเป็นของชนชาติใดคือ ดนตรีเปรียบเสมือนเครื่องมือของมนุษย์ที่ไว้คอยตอบสนองความต้องการทางด้าน อารมณ์ เป็นเครื่องมือที่สามารถแสดงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้อย่างมี ประสิทธิภาพมากกว่าภาษาพูด เป็นศิลปะที่มนุษย์ทุกคนสามารถรับรู้และรู้ซึ้งได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยความ รู้ขั้นสูง ความเข้าใจหรือเหตุผลไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญที่สุดในการฟังดนตรีแต่เป็นการสดับฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของดนตรีที่จะพาเราไปยังโลกแห่งจินตนาการที่รอให้เราเข้าไปสำรวจด้วยตัวเอง
จาก „ศาสตร์แห่งเสียง“ สู่ „ศาสตร์แห่งการบำบัดรักษา“…
อย่าง ที่ได้เกริ่นไปว่า ดนตรีมีความผูกพันและเกี่ยวข้องกับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคต้นของพัฒนาการของ มนุษย์ ผลกระทบของดนตรีที่มีต่อมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ได้มีการศึกษากันมายาวนาน ยิ่งมีการศึกษามากก็ยิ่งพบกับความมหัศจรรย์ของเสียงเพลง เรานั่งกินข้าวในร้านอาหารนานขึ้นกับร้านที่เลือกเปิดเพลงช้าๆ ในทางกลับกันกับร้านที่เปิดเพลงเร็ว ลูกค้าจะรับประทานอาหารและออกจากร้านเร็วกว่า ดนตรียังมีผลต่อการขายสินค้า เช่นในร้านไวน์ ลูกค้าจะเลือกซื้อไวน์ที่แพงขึ้นหากทางร้านเลือกเปิดเพลงคลาสสิก หรือการใช้เพลงเพื่อสื่อถึงสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง พอคุณร้องเพลงนั้นภาพของสินค้าชนิดนั้นก็จะเข้ามาในหัวของคุณทันที หรือแม้แต่อิทธิพลของเสียงเพลงที่มีต่อการบรรเทาความเจ็บปวดต่าง ๆ การใช้ดนตรีเพื่อช่วยในการรักษาอาการผิดปกติทางใจ หรือใช้เสริมกับการรักษาประเภทอื่น
การนำดนตรีมาใช้เพื่อจุดประสงค์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ยุคสมัยโบราณ และยังมีบันทึกปารกฎในพระคัมภีร์ฉบับเก่าว่า:
„16:16 ขอเจ้านายของข้าพระองค์ทั้งหลาย จงบัญชาผู้รับใช้ของพระองค์ผู้ที่อยู่ต่อพระพักตร์พระองค์ให้หาคนที่มีฝีมือ ในการดีดพิณเขาคู่ และต่อมาเมื่อวิญญาณชั่วจากพระเจ้าสิงพระองค์ ก็ให้เขาดีดพิณเขาคู่แล้วพระองค์จะหายดี“
การใช้ดนตรีเพื่อจุดประสงค์ในการรักษานั้นถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานไปตาม ความแตกต่างของวัฒนธรรม ความเชื่อในแต่ละพื้นที่ ประวัติของการใช้ดนตรีเพื่อการบำบัดรักษาของแต่ละประเทศจึงมีความแตกต่างกัน ไปตามวัฒนธรรม ภาษาและความเชื่อที่ต่างกัน รูปแบบและการใช้งานของ „ดนตรีบำบัด“ จึงต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค ดังนั้นการที่เราจะรับเอารูปแบบของการบำบัดประเภทนี้มาใช้งานโดยที่ไม่คำนึง ถึงภูมิหลังทางวัฒนธรรมของเราหรือนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับคนไทยนั้นจึงเป็น เรื่องที่ไม่เหมาะสมและจะทำให้คนไทยไม่ได้รับประโยชน์จากการรักษาด้วยดนตรีอย่างที่ควรจะเป็น
ดนตรีบำบัดคือการใช้สื่อดนตรีหรือองค์ประกอบ ของดนตรีอย่างมีจุดประสงค์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทางการบำบัดรักษา ดนตรีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วยและเปรียบได้กับเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับนักบำบัดแทนการใช้ภาษาในการสื่อสาร ดนตรีบำบัดสามารถใช้กับคนที่มีความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรม มีปัญหาทางด้านพัฒนาการ อีกทั้งยังช่วยปรับสภาพความผิดปกติเหล่านี้ให้เข้าสู่ภาวะปกติหรือพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสใช้สื่อดนตรีในการแสดงออกทางอารมณ์แทนคำพูดในกรณีที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถสื่อสารได้แบบคนปกติ
การบำบัดด้วยดนตรีจะเน้นหนักไปที่การให้ผู้ป่วยเล่นเครื่องดนตรีเอง (active Music Therapy) เป็นการเล่นแบบอิสระ (free improvisation) ไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ทางดนตรีหรือเล่นเครื่องดนตรีมาก่อน และไม่ให้ความสำคัญในเรื่องความถูกต้องและความสวยงามทางดนตรี เสียงดนตรีที่ออกมาจากผู้ป่วยเป็นตัวสะท้อนถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจและจิตใต้สำนึกของตัวผู้ป่วยเอง เป็นสัญลักษณ์ท่ีใช้สะท้อนถึงปมปัญหาในจิตใจ สะท้อนถึงความสัมพันธ์กับผู้อื่น ในที่นี้นักดนตรีบำบัดมีหน้าที่เล่นเครื่องดนตรีอีกชิ้นประกอบคลอไปกับผู้ป่วย โดยที่จะต้องทำให้ผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเป็นคนที่ไม่เคยรู้จักเครื่องดนตรีชนิดนั้นมาก่อน มีความเคยชินกับเครื่องดนตรีชิ้นนั้น ๆ และกล้าที่จะเล่นออกมาโดยที่ไม่รู้สึกเขินอายแต่อย่างใด อีกทั้งยังต้องคอยสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงในเสียงดนตรีที่เล่นออกมาจากผู้ป่วยรวมไปถึงพฤติกรรมของผู้ป่วยในระหว่างเล่นด้วย ทั้งนี้เครื่องดนตรีสำหรับผู้ป่วยควรจะเป็นเครื่องดนตรีที่เล่นได้ง่าย ไม่ต้องใช้ความสามารถหรือความพยายามในการเล่นมากนัก
ดนตรีบำบัดอีกประเภทคือ passive Music Therapy คือการบำบัดโดยการฟังเพลง การบำบัดแบบนี้มีแนวคิดที่ว่า เสียงดนตรีมีผลให้เกิดการติดต่อเชื่อมโยงกับสมองในส่วนของความทรงจำที่เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือบุคคล ซึ่งความทรงจำต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตนั้น มักจะมีเรื่องของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ความทรงจำที่ดี ความทรงจำที่เลวร้ายต่าง ๆ ที่จะผุดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเราได้ฟังเพลง หลังจากที่ผู้ป่วยได้ฟังเพลงแล้ว นักบำบัดจะซักถามรายละเอียดจากผู้ป่วยถึงความรู้สึกเมื่อได้ฟังเพลงนั้น ๆ เพลงที่นำมาใช้ในการบำบัดลักษณะนี้ นักบำบัดจะต้องสอบถามจากผู้ป่วยหรือญาติของผู้ป่วยว่าเพลงไหนผู้ป่วยชอบฟัง เป็นพิเศษ หรืออาจจะเป็นเพลงที่ผู้ป่วยมีความคุ้นเคย ได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก อาจจะเป็นเพลงที่มีความหลังฝังใจหรือเป็นเพลงที่ไม่เคยได้ยินหรือรู้จักมาก่อนเลยก็ได้เช่นกัน
ตัวเชื่อมที่สำคัญที่สุดระหว่าง „ดนตรี“ กับ „บำบัด“ คือ „นักดนตรีบำบัด“ มีหน้าที่เสมือนเป็น „ล่ามแปล“ ความหมายที่ซ่อนอยู่ในเสียงดนตรีให้ออกมาอยู่ในรูปของ „ภาษา“ ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ ซึ่งทักษะในการ „แปล“ เสียง ออกมาเป็นภาษานั้นต้องอาศัยการฝึกฝน เรียนรู้ทั้งในด้านดนตรี ความรู้ด้านจิตวิทยา ความรู้เรื่องร่างกายมนุษย์ ความรู้ทางด้านโรคทางจิตเวช เทคนิคการให้คำปรึกษาและการพูดคุย เป็นต้น ซึ่งองค์ความรู้และทักษะเหล่านี้สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้อย่างเป็นระบบผ่านหลักสูตรอบรมนักดนตรีบำบัดที่มีมาตรฐานตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งภายในและนอกประเทศ หากปราศจากนักดนตรีบำบัดแล้วเสียงที่เล่นออกมาหรือแม้แต่ประสบการณ์ที่ได้รับจากการฟังหรือเล่นดนตรีก็ไม่ต่างอะไรจากการฟังเพลงหรือเล่นดนตรีในชีวิตประจำวัน
0 Kommentare